พลิกโฉมประเทศด้วยนวัตกรรมจากการเรียนรู้แบบ Active Learning

พลิกโฉมประเทศด้วยนวัตกรรมจากการเรียนรู้แบบ Active Learning

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “พลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ว่า การเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นการเรียนที่เด็กได้ทดลองทำ ซึ่งเด็กมีความสนุก และเกิดความภาคภูมิใจ รวมถึงได้ปลดปล่อยพลังงานจากแรงบันดาลใจและการแนะนำของครูอาจารย์ จนเกิดเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งโครงการนี้ต้องการให้เด็กเอาพลังงานและประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวบวกกับบทเรียนมาสร้างให้เกิดประโยชน์ วันนี้อายุแค่นี้ทำได้เท่านี้ ต่อไปก็จะคิดอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์หรือคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็เริ่มมาจากอย่างนี้ทั้งนั้น

“เป้าหมายคือทำไปเรื่อย ๆ โดยเริ่มต้นที่การอบรมครูให้รู้จักสร้างนวัตกรรมจากนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ซึ่งเราคงต้องรอให้ทำได้ทุกภาค ทุกจังหวัดและทุกโรงเรียน ซึ่งถ้าทำได้ก็จะประสบความสำเร็จ จะใช้เวลากี่ปีก็ไม่เป็นไร”รองนายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า ส่วนเรื่องความกังวลว่าหากเปลี่ยนรัฐบาลแล้วโครงการจะไม่ต่อเนื่องนั้น ตนไม่รู้สึกกังวล เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนชื่อโครงการก็ได้ แต่เนื้อหาสาระก็ต้องเป็นอย่างนี้ และตนก็จะได้ว่าทุกพรรคที่หาเสียงก็มีนโยบายส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมอยู่แล้ว

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบตาม “โครงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา ที่กำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และ เป็นไปตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่ได้ประกาศ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 เรื่อง “ประกาศเดินหน้า พลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครู สู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่เน้น ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ให้ครูเป็นผู้สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้สร้างและใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ ผลิตผลงานและนวัตกรรม เกิดเจตคติและค่านิยมที่ดี มีสมรรถนะชั้นสูง เต็มตามศักยภาพ ของผู้เรียนแต่ละบุคคล ด้วยเทคนิคการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตอบสนองการพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 และบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ศธ.จะเร่งพัฒนาโรงเรียนต้นแบบประจำจังหวัด ให้ครบทุกจังหวัด ภายใน ปีการศึกษา 2566 เพื่อขยายผลการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนทั่วประเทศโดยไว เกิดเป็นสังคมฐานความรู้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลกต่อไป

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.โรงเรียนไหนที่มีแผนการเรียนแบบท่องจำ แต่อย่างไรก็ตามการจำของเด็กก็จะเป็นการต่อยอดเพื่อให้เกิดความเข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อนำไปใช้จึง เป็น Passive Learning ต่อยอดเป็น Active Learning ซึ่งหลักสูตรตอนนี้ สพฐ.ได้ปรับปรุงเป็นการเรียนการสอนฐานสรรถนะแล้ว ซึ่งจะต้องจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการตอบโจทย์ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพราะจากการศึกษาแนวทางพัฒนาการศึกษาระดับโลก พบว่าเด็กระดับประถมศึกษาสามารถสร้างนวัตกรรมได้ และนวัตกรรมนี้ก็เชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตสามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตในครอบครัวได้ ส่วนระดับมัธยมศึกษาก็สามารถต่อยอดนวัตกรรมไปเชื่อมโยงกับผลผลิตในชุมชน เพื่อนำไปสู่การเผยแพร่ในเชิงธุรกิจได้ ขณะที่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็เน้นการสร้างนวัตกรรมเชิงวิจัย จะเห็นว่าระดับการเรียนรู้ทำให้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีศักยภาพสูงเท่ากับระดับอุดมศึกษาในอดีต ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศ

“การต่อยอดการเรียนรู้แบบ Active Learning ครั้งนี้ เป็นการตอบโจทย์ประเทศและตอบโจทย์สิทธิของนักเรียนทุกคนที่พึงมี เพราะถ้าเด็กได้รับการพัฒนาตั้งแต่เล็ก เชื่อว่าจะเปลี่ยนประเทศเป็นสังคมฐานความรู้ที่แท้จริง เด็กก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้ และสามารถยกระดับคุณภาพของครอบครัวให้สูงขึ้นได้ เช่นประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เด็กก็สามารถพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรผ่านนวัตกรรมได้”

ผศ.พิภัทรา สิมะโรจนา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.) กล่าวว่า มรร.ได้ดำเนินการอบรมเพื่อสร้างวิทยากรต้นแบบ เรื่องการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อเป็นกำลังสำคัญที่จะลงพื้นที่ไปช่วยพัฒนาครูและนักเรียนในภาคตะวันออก เพราะมั่นใจในกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ด้วยตัวเองและสร้างความมั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเอง ส่งผลให้สามารถสร้างนวัตกรรมของตัวเองได้

ที่มา  https://www.facebook.com/100064629556440/posts/pfbid0rzsoBmmopze3YHc9jKRWcBs9FWQ7UhKz3s5iWLJB7LktFJ5LfCqAjW5Y9D9LPKTEl/?mibextid=DcJ9fc

 

Share :

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า